November 19, 2024

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มีหลักการคือ
เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นไปตามแนวนโยบายการจัดการศึกษาของประเทศ จึงกำหนดหลักการของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ดังนี้

  1. เป็นการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มุ่งเน้นความเป็นไทย ควบคู่กับความเป็นสากล
  2. เป็นการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกัน โดยสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
  3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
  4. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระ เวลา และการจัดการเรียนรู้
  5. เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผล การเรียนรู้ และประสบการณ์

จุดหมาย
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนา ที่ตนนับถือ มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์
  2. มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียนและรักการค้นคว้า
  3. มีความรู้อันเป็นสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ มีทักษะและศักยภาพในการจัดการ การสื่อสารและ การใช้เทคโนโลยี ปรับวิธีการคิด วิธีการทำงานได้เหมาะสมกับสถานการณ์
  4. มีทักษะและกระบวนการ โดยเฉพาะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทักษะการคิด การสร้างปัญญา และทักษะในการดำเนินชีวิต
  5. รักการออกกำลังกาย ดูแลตนเองให้มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี
  6. มีประสิทธิภาพในการผลิตและการบริโภค มีค่านิยมเป็นผู้ผลิตมากกว่าเป็นผู้บริโภค
  7. เข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เป็นพลเมืองดียึดมั่นในวิถีชีวิต และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  8. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ภาษาไทย ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
  9. รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้สังคม

โครงสร้าง
เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามหลักการ จุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ให้สถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติในการจัดหลักสูตรสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง มีแนวปฏิบัติในการจัดหลักสูตรสถานศึกษา จึงได้กำหนดโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานดังนี้

  1. ระดับช่วงชั้น
    กำหนดหลักสูตรเป็น 4 ช่วงชั้น ตามระดับพัฒนาการของผู้เรียนดังนี้
    ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3
    ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6
    ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3
    ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6
  2. สาระการเรียนรู้
    กำหนดสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะหรือกระบวนการเรียนรู้ และคุณลักษณะหรือค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ของผู้เรียนเป็น 8 กลุ่ม ดังนี้
    2.1 ภาษาไทย
    2.2 คณิตศาสตร์
    2.3 วิทยาศาสตร์
    2.4 สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
    2.5 สุขศึกษาและพลศึกษา
    2.6 ศิลปะ
    2.7 การงานอาชีพและเทคโนโลยี
    2.8 ภาษาต่างประเทศ

สาระการเรียนรู้ทั้ง  8  กลุ่มนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนรู้  โดยอาจจัดเป็น   2  กลุ่ม  คือ 

กลุ่มแรก  ประกอบด้วย ภาษาไทย   คณิตศาสตร์   วิทยาศาสตร์   และสังคมศึกษา   ศาสนา   และวัฒนธรรม  เป็นสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาต้องใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนการสอน  เพื่อสร้างพื้นฐานการคิดและเป็นกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาและวิกฤตของชาติ
   กลุ่มที่สอง  ประกอบด้วย  สุขศึกษาและพลศึกษา  ศิลปะ  การงานอาชีพและเทคโนโลยี   และภาษาต่างประเทศ  เป็นสาระการเรียนรู้ที่เสริมสร้างพื้นฐานความเป็นมนุษย์และสร้างศักยภาพในการคิดและการทำงานอย่างสร้างสรรค์
   เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษา  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ไว้ใน  สาระการเรียนรู้กลุ่มต่างๆ  โดยเฉพาะกลุ่มวิทยาศาสตร์  กลุ่มสังคมศึกษา   ศาสนาและวัฒนธรรม  กลุ่มสุขศึกษาและพลศึกษา
   กลุ่มภาษาต่างประเทศ  กำหนดให้เรียนภาษาอังกฤษทุกช่วงชั้น ส่วนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ  สามารถเลือกจัดการเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสม

  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดสาระการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มไว้เฉพาะส่วนที่จำเป็นในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกคนเท่านั้น  สำหรับส่วนที่ตอบสนองความสามารถความถนัด และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนนั้น  สถานศึกษาสามารถกำหนดเพิ่มขึ้นได้ให้สอดคล้องและสนองตอบศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

เป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ  มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระ     การเรียนรู้ทั้ง  8  กลุ่ม  การเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขกับกิจกรรมที่เลือกด้วยตนเองตามความถนัด  และความสนใจอย่างแท้จริง  การพัฒนาที่สำคัญได้แก่  การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้าน  ทั้งร่างกาย  สติปัญญา  อารมณ์ และสังคม  โดยอาจจัดเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีศีลธรรม  จริยธรรม  มีระเบียบวินัย  และมีคุณภาพเพื่อพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม  ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย  มีรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแบ่งเป็น  2  ลักษณะ คือ
         3.1 กิจกรรมแนะแนว  เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้เรียน ให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล  สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน เสริมสร้างทักษะชีวิต  วุฒิภาวะ     ทางอารมณ์  การเรียนรู้ในเชิงพหุปัญญา และการสร้างสัมพันธภาพที่ดี  ซึ่งผู้สอนทุกคนต้องทำหน้าที่แนะแนวให้คำปรึกษาด้านชีวิต  การศึกษาต่อ  การพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพและการมีงานทำ
        3.2 กิจกรรมนักเรียน  เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนปฏิบัติด้วยตนเอง  อย่างครบวงจร ตั้งแต่ศึกษา  วิเคราะห์ แผนงาน ปฏิบัติตามแผน ประเมินและปรับปรุงการทำงาน โดยเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  เช่น  ลูกเสือ  เนตรนารี  ยุวกาชาด  และผู้บำเพ็ญประโยชน์  เป็นต้น

มาตรฐานการเรียนรู้

     หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้  8  กลุ่มที่เป็นข้อกำหนดคุณภาพผู้เรียนด้านความรู้  ทักษะกระบวนการ  คุณธรรม  จริยธรรมและค่านิยมของแต่ละกลุ่มเพื่อใช้เป็นจุดมุ่งหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์  ซึ่งกำหนดเป็น  2  ลักษณะคือ
     4.1  มาตรฐานการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน
            เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้  เมื่อผู้เรียนเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
       4.2  มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น
            เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้  เมื่อผู้เรียนเรียนจบในแต่ละ    ช่วงชั้น  คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่  3  และ  6   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  และ  6
     มาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้เฉพาะ มาตรฐาน  การเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทุกคนเท่านั้นสำหรับมาตรฐานการเรียนรู้ที่สอดคล้อง  กับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดี ของครอบครัว  ชุมชน  สังคมและประเทศชาติ  ตลอดจนมาตรฐานการเรียนรู้ที่เข้มข้นขึ้นความสามารถความถนัดและความสนใจของผู้เรียนให้สถานศึกษาพัฒนาเพิ่มเติมได้
เวลาเรียน
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดเวลาในการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนไว้ดังนี้
       ช่วงชั้นที่  1  ชั้นประถมศึกษาปีที่  1 – 3   มีเวลาเรียนประมาณปีละ  800 – 1,000  ชั่วโมง  โดยเฉลี่ยวันละ  4 – 5  ชั่วโมง
       ช่วงชั้นที่  2  ชั้นประถมศึกษาปีที่  4 – 6   มีเวลาเรียนประมาณปีละ  800 – 1,000  ชั่วโมง  โดยเฉลี่ยวันละ  4 – 5  ชั่วโมง
      ช่วงชั้นที่  3  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 – 3   มีเวลาเรียนประมาณปีละ  1,000 – 1,200  ชั่วโมง  โดยเฉลี่ยวันละ  5 – 6  ชั่วโมง
       ช่วงชั้นที่  4  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4 – 6   มีเวลาเรียนปีละไม่น้อยกว่า  1,200  ชั่วโมง  โดยเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า  6  ชั่วโมง